ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันกันสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้า ทรัพยากรที่ลดน้อยลง
ทำให้แต่ละองค์กรต้องพยายามในการหาวิธีการจัดการ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในกระบวนการผลิตและการให้บริการ เพื่อให้อยู่รอดในตลาดการแข่งขัน หนึ่งในเรื่องที่หลายองค์กรให้ความสนใจคือเรื่องของการขนส่ง การขนส่งในบางธุรกิจเป็นต้นทุนหลักที่หลายองค์กรต้องพยายามลดลง ทั้งการใช้Outsource การใช้รถขนส่งโดยก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนหมวดการขนส่งเป็นการขนส่งทางน้ำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสามารถขนส่งได้จำนวนมากและต้นทุนต่ำ แต่การขนส่งทางน้ำใช่จะมีแต่ข้อดีเท่านั้น ยังมีข้อเสียหรือปัจจัยทางลบที่องค์กรต้องพิจารณา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบก่อนเลือกดำเนินการ
การขนส่งทางน้ำเท่ากับต้นทุนที่ลดลงจริงหรือ
ในปัจจุบันการขนส่งทางนั้บว่าเป็นรูปแบบการขนส่งที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งประเภทอื่น ซึ่งการที่ต้นทุนต่ำกว่านั้น ก็เพราะการขนส่งแต่ละครั้งจะสามารถขนได้จำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับการขนส่งด้วยวิธีอื่นในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น
“การขนส่งเบียร์ 1 กล่องน้ำหนัก 15 กก.ต่อกล่อง จากกรุงเทพฯ ไปส่งที่จังหวัดชลบุรี โดยทางรถบรรทุกค่าขนส่งราคากล่องละ 10.60 บาท ในขณะที่การขนส่งทางเรือ 1 ลำ บรรทุกเบียร์ได้ 100,000 กล่อง ค่าขนส่งกล่องละ 2.25บาท และไปจ้างรถกระจายต่ออีก 4.5 บาท ต่อกล่อง รวมเป็น 6.75 บาท ต่อกล่อง ต้นทุนการขนส่งลดลงถึง 36%”
จากตัวอย่างที่ยกมานั้นเห็นได้ว่าต้นทุนค่าขนส่งนั้นลดลงกว่า 30% ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ หันมาให้ความสนใจในการขนส่งทางน้ำมากขึ้น นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้วการขนส่งทางน้ำยังมีข้อดีหลายประการ ดังนี้
- การขนส่งแต่ละครั้งได้ปริมาณมาก เนื่องจากการขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่ต้องการให้ต้นทุนต่ำ ดังนั้น เรือที่ใช้ในการขนถ่ายเป็นเรือขนาดใหญ่ประมาณ 1,000-2,000 ตัน ภายในประเทศ และ 2,000-30,000 ตัน ระหว่างประเทศ การดำเนินการขนถ่ายสินค้าคราวเดียวจะได้สินค้าจำนวนมาก
- มีความปลอดภัย เนื่องจากการขนส่งทางน้ำจะใช้ความเร็วต่ำ อัตราการเกิดอุบัติเหตุจึงค่อนข้างน้อย และการจราจรทางน้ำก็น้อย ไม่เหมือนการจราจรทางบกที่มีปริมาณรถมาก
จากข้อดีของการขนส่งทางน้ำ ทำให้ปัจจุบันปริมาณการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยมีประมาณ 120 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 15-16 ล้านตัน ข้าว 9-10 ล้านตัน ปุ๋ยและวัสดุก่อสร้าง 14-16 ล้านตัน แม้การขนส่งทางน้ำจะมีข้อดีในเรื่องของต้นทุนและปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวมากกว่าการขนส่งประเภทอื่น แต่การขนส่งทางน้ำก็มีข้อเสียหรือข้อด้อยที่ผู้ผลิตต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจ