ด้านนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมนั้น มีนโยบายสนับสนุน
ให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางบกไปสู่การขนส่งทางน้ำ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการขนส่งโดยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำจาก 15% เป็น 19% ภายในปี 2563 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน กรมเจ้าท่าจึงมีนโยบายในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ โดยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการขนส่งทางน้ำให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ แต่ยังมิได้มีการใช้สอยในการขนส่งอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง กรมจึงได้มีแนวคิดในการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน เพื่อการเดินเรือ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้เคยทำการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2537 โดยมีเป้าหมายทำการศึกษาเพื่อการพัฒนา ปรับปรุง และขยายขีดความสามารถในการ
เดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านให้รองรับเรือที่มีขนาดกินลำน้ำลึก 5 เมตร และ 3 เมตร แล่นได้ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึง จ.นครสวรรค์ ต่อเนื่องไปตามแม่น้ำน่านจนถึง อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ระยะทางตามลำน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 477 กิโลเมตร
ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาแผนยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องการขนส่งทางน้ำเท่าไรนัก แต่จะพูดถึงการขนส่งทางเรือเสียมากกว่า ทั้งๆ ที่ในทางวิชาการเป็นที่ทราบกันดีว่า การขนส่งทางน้ำมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด
ทั้งนี้ จากตัวเลขการส่งออกของไทยที่ผ่านมามีการเติบโตในเปอร์เซ็นต์ลดลงต่อเนื่อง และจากการวิเคราะห์พบว่าเกิดจากขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง โดยเรื่องโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน เป็นปัญหาที่ให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศลดลง และไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะสู่กับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในหลายๆ ด้านรวมกัน
ดังนั้น จึงคิดว่าการขนส่งทางน้ำเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องปรับปรุงและให้ความสำคัญอย่างมาก แม้ว่าจะมีสัดส่วนการขนส่งเพื่อการส่งออกไม่มากนัก หรือคิดเป็น 7% ของการส่งออกรวมของประเทศ แต่ก็แปลกใจที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางมาก จึงเห็นว่าการขนส่งทางน้ำควรต้องได้รับการดูแลและมีโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศที่มองในภาพรวมจริงๆ เพราะนี่คืออนาคตของประเทศที่จะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
“การส่งออกสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำ จะเป็นสินค้าจำพวกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และน้ำตาล ซึ่งแม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัดคิดเป็น 7% ของการส่งออกรวม หรือมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5 หมื่นล้านบาท แต่ในภาคผู้ส่งออกเองก็หวังที่จะพึ่งพาการขนส่งภายในประเทศ ที่จะไปเชื่อมต่อกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศด้วย อีกทั้งเห็นว่าโครงการที่ไม่ได้เป็นการผลักดันโดยนักการเมือง น่าจะเป็นโครงการที่โปร่งใสและทำเพื่อประเทศอย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริงด้วย” นายนพพร กล่าวทิ้งท้าย