นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขีดความสามารถ
ของประเทศไทยลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันผลการดำเนินงานของระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ที่แม้ว่าต้นทุนการขนส่งจะลดลง แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และตัวเลขที่ลดลงก็มาจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการเอง ขณะที่ต้นทุนขนส่งสินค้ายังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของต้นทุนโลจิสติกส์ โดยปี 2554 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 14.7 ลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 0.5
ทั้งนี้ ต้นทุนที่ลดลงมาจากต้นทุนการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประสิทธิภาพการจัดการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการบริหารสต็อกและคลังสินค้า ส่งผลให้แนวโน้มต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศลดลง แต่เมื่อพิจารณาต้นทุนการขนส่งสินค้า พบว่ายังคงเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของต้นทุนโลจิสติกส์รวมของประเทศ และในปี 2554 ต้นทุนขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 0.1 คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของจีดีพี
“จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจะต้องมาดูถึงโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ และไม่เฉพาะกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยังเกี่ยวเนื่องไปกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชย์ ตลอดจนภาคเอกชนที่จะต้องปรับตัว และภาคราชการในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านการบริการต่างๆ” นายอาคมกล่าว
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 มีกรอบการพัฒนาอยู่ 6 ยุทธศาสตร์ แต่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมี 2 กรอบด้วยกันคือ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งมีเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นการพัฒนาฐานการลงทุน โดยการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค เพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“นอกจากการเพิ่มขีดแข่งขันของประเทศแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องดูแลด้วยคือ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจะต้องกระจายลงไปสู่รากหญ้าให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะของประเทศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เลขาธิการ สศช.ระบุ
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีแผนพัฒนาอยู่ 3 เรื่องคือ การเชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ โดยเฉพาะรถไฟ ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญมากทั้งการปรับปรุงทางรถไฟ เส้นทางรถไฟ และรถไฟรางคู่ จากนั้นเป็นเรื่องของ
เส้นทางบก และทางน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องการเชื่อมโยงเปิดประตูทางการค้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเน้นเปิดประตูทางการค้าซีกตะวันตก เพื่อลดระยะเวลาการขนส่ง สุดท้ายคือแผนพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง
ในแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ปี 2556-2560 นั้น ด้านซัพพลายเชน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการค้าและบริการในพื้นที่เมืองชายแดน ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะมีการพัฒนาระบบขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่งและส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ส่วนด้านการพัฒนาบุคลากร เน้นปรับปรุงระบบการพัฒนาและจัดการกำลังคน และพัฒนาติดตามการประเมินผลเพื่อการปรับปรุงตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร